IT vs OT Information Technology และ Operational Technology แตกต่างกันอย่างไร?

Share on Facebook
Share on Linkedin
Share on Twitter

ปัจจุบันการเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ได้สร้างโอกาสใหม่สำหรับธุรกิจในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น หลายองค์กรจึงต้องปรับตัวให้มีการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม ทำให้เส้นแบ่งระหว่าง IT และ OT ไม่ชัดเจน ด้วยกระบวนการที่ทับซ้อนกันมากขึ้น เนื่องจากระบบ OT เชื่อมต่อกับเครือข่าย IT มากขึ้นเรื่อยๆ กับการเชื่อมโยงเครื่องจักร คน และ ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเข้าด้วยกันของ OT และ IT หรือที่เรียกว่า Industrial Internet of Things (IIoT) ช่วยให้องค์กรสามารถปรับความสอดคล้องของข้อมูลและการจัดการได้อย่างเหมาะสม

บทความนี้ เราจะอธิบายให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง IT และ OT และเหตุผลที่ว่าทำไมทั้ง IT และ OT จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการดำเนินงานของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยทั้ง IT และ OT ต่างก็มีจุดเด่นและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่าง IT และ OT เพื่อให้จัดการและนำเทคโนโลยีไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

Information Technology (IT) หรือ เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นการรวมเอาเซิร์ฟเวอร์ (Server) อุปกรณ์เครือข่าย (Network Device) และอุปกรณ์ปลายทาง (Endpoint Device) เข้ามารวมกันเป็นระบบเดียว เพื่อประมวลผล จัดเก็บ จัดการและเผยแพร่ข้อมูล โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การสื่อสารข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการทำงานของธุรกิจองค์กร ทั้งฝ่ายการเงิน ฝ่ายการตลาด และทรัพยากรบุคคล โดยมักใช้สำหรับงานด้านการจัดการ เช่น การจัดการกับฐานข้อมูล การสร้างรายงาน และการสื่อสารกับลูกค้าและผู้ขาย กล่าวคือระบบ IT ถูกออกแบบมาเพื่อการบริหารจัดการข้อมูลให้เป็นระบบ มีการจัดลำดับ เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ที่แม่นยำและรวดเร็ว โดยอาศัยการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ ไปยังเครือข่ายต่างๆ

Operational Technology (OT) หรือ เทคโนโลยีเชิงปฏิบัติงาน รวมถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทางอุตสาหกรรม เช่น เกตเวย์ IoT (IoT Gateway) และระบบควบคุม (Control System) ต่างๆ ซึ่งก็คือเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติงานที่ใช้ในการตรวจสอบและควบคุมระบบ อุปกรณ์ เครื่องจักร กระบวนการ และโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมการผลิต ที่เรามักได้ยินบ่อยๆ ได้แก่ SCADA เป็นต้น ระบบ OT มักถูกใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต แต่ก็มีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องอาศัยระบบนี้เพื่อตรวจสอบขั้นตอนการทำงาน ผ่านการใช้เซนเซอร์ เช่น ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ประปา การคมนาคม กล่าวคือระบบ OT ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการตรวจสอบ ควบคุม กระบวนการต่างๆ ที่มีเครื่องจักรในการทำงาน โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และให้เกิดความผิดพลาดในการดำเนินงานน้อยที่สุด

นอกจากระบบ IT และ OT แล้ว ในปัจจุบันองค์กรต่างก็ยังได้นำอุปกรณ์อื่นๆที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เข้ามาใช้กับธุรกิจ ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า Internet Of Things (IoT) ซึ่งหมายถึง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเชื่อมโยง หรือ รับส่งข้อมูลถึงกันได้ ด้วยการเชื่อมต่อกับเครือข่าย ที่สามารถทำงานกับโซลูชันการเชื่อมต่อเฉพาะ เช่น เซลลูลาร์, อินเตอร์เน็ตไร้สาย (WiFi) บลูทูธ (Bluetooth) เพื่อให้สามารถสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านการควบคุมจากอีกอุปกรณ์ โดยที่พบเห็นกันบ่อยคือคอมพิวเตอร์ หรือ สมาร์ทโฟน สำหรับภาคธุรกิจการผลิตเอง ก็ได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้เพื่อควบคุมการผลิต โดยเราเรียกสิ่งนี้ว่า Industrial Internet of Things (IIoT) ซึ่งมีการทำงานลักษณะเดียวกันกับ IoT แต่มีเป้าหมายในเรื่องของการผลิตและส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักร นอกจากภาคธุรกิจแล้ว ภาคครัวเรือเองก็ยังมีการนำเอาอุปกรณ์นี้มาใช้ในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างใกล้ตัวเช่น กล้อง CCTV

ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างระบบ IT และ OT

ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างระบบ IT และ OT คือ ระบบ IT มุ่งเน้นไปที่การประมวลผลและการจัดการข้อมูล ในขณะที่ระบบ OT มุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีเชิงปฏิบัติงาน ระบบ IT ได้รับการออกแบบให้มีความยืดหยุ่นและปรับขนาดได้ ในขณะที่ระบบ OT ได้รับการออกแบบให้มีความน่าเชื่อถือและคาดการณ์ได้ โดยทั่วไปแล้ว ระบบ IT จะเป็นระบบมาตรฐานและใช้เทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ในขณะที่ระบบ OT มักจะได้รับการปรับแต่งเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของแต่ละองค์กรและอุตสาหกรรมนั้นๆ

IT and OT Convergence

ปัจจุบัน หลายองค์กรได้มีการผสมผสานเอาระบบ IT และระบบ OT เข้ามาใช้ในการทำงานร่วมกัน ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า IT and OT Convergence ซึ่งเป็นการหยิบเอาข้อดีของการจัดการข้อมูลของระบบ IT เข้ามาสนับสนุนการทำงานของระบบ OT ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การทำงานผสานกันของระบบ IT และ OT เข้าด้วยกัน สามารถลดผลกระทบเชิงลบจากการทำงานผิดพลาดของระบบ ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ตอบสนองต่อปัญหาได้เร็วขึ้น  และช่วยให้องค์กรมีข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับจากข้อมูลการขายและการบริหารสินค้าคงคลัง สามารถทำให้อุปกรณ์การผลิตและการใช้พลังงานได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตัวอย่างอุตสาหกรรมที่มีการผสานการทำงานร่วมกันของระบบ IT และ OT เข้าด้วยกัน เช่น การค้าปลีก (Retail) การผลิต (Manufacturing) การก่อสร้าง (construction) เป็นต้น

แต่ในขณะเดียวกันการทำงานผสานกันของทั้งสองระบบก็อาจทำให้เกิดช่องว่างในการสื่อสารที่เข้ากันได้ไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดช่องโหว่ทางด้านความปลอดภัย โดยมีเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับโรงงานบำบัดน้ำเสียแห่งหนึ่ง ที่ถูกแฮกเกอร์ใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ โจมตีเว็บเซิร์ฟเวอร์ของแอปพลิเคชันการชำระเงิน สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานที่ดูแลระบบจนสามารถได้รหัสผ่านของผู้ดูแลระบบ ทำให้สามารถเข้าถึงซอฟต์แวร์และเปลี่ยนการตั้งค่าที่เกี่ยวข้องกับการไหลของน้ำและปริมาณของสารเคมีที่ใช้ในการบำบัดน้ำ และเพิ่มปริมาณของด่างในน้ำดื่ม ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพของน้ำเป็นอย่างมาก แต่โชคดีที่พนักงานโรงงานสังเกตความผิดปกติได้ทันจึงสามารถหยุดการกระทำดังกล่าวก่อนที่จะลุกลามให้เกิดความเสียหายเชิงลบต่อทั้งชื่อเสียงองค์กรและคุณภาพของชีวิตประชาชนรอบๆ โรงงาน

ส่วนเทคโนโลยี IoT เองนั้นมีประโยชน์ในหลายด้าน แม้ว่าอุปกรณ์ IoT เองจะปลอดภัย แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยง เพราะหากระบบรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์ และเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไม่ดีพอ อุปกรณ์อื่นๆ ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายก็อาจกลายเป็นช่องทางสำหรับแฮกเกอร์ ซึ่งอาจทำให้อุปกรณ์ IoT เสียหายได้เช่นกัน เครือข่ายเช่น WiFi และ LoRaWAN แบบสาธารณะ  ก็อาจทำให้มีแฮกเกอร์ เข้ามาขโมยข้อมูลหรือละเมิดความเป็นส่วนตัวของเราได้ ดังนั้นการพัฒนา IoT จึงจำเป็นต้องพัฒนามาตรการและระบบรักษาความปลอดภัยไอทีควบคู่กันไปด้วย

การผสานการทำงานของระบบ IT และ OT เข้าด้วยกัน ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากในแง่ของประสิทธิภาพของการดำเนินงานและจำนวนผลลัพธ์การผลิตและนวัตกรรมการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงและความท้าทายที่สำคัญของการผสานการทำงานของทั้งสองระบบที่ต้องคำนึงถึงคือความปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้วยเหตุนี้ องค์กรจำเป็นต้องมีความเข้าใจที่ชัดเจนเพื่อที่จะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้มากที่สุดและส่งผลเสียต่อองค์กรน้อยที่สุด

สำหรับบทความหน้า CYBER ELITE🦉จะอธิบายเกี่ยวกับการจัดการกับความท้าทายด้านความมั่นคงปลอดภัยเพื่อให้มั่นใจถึงการดำเนินงานที่มั่นคงปลอดภัยในระบบ OT